คำแนะนำและวิธีปฏิบัติเมื่อสหกรณ์ได้รับหมายบังคับคดี |
คำแนะนำและวิธีปฏิบัติ เมื่อสหกรณ์ได้รับหมายบังคับคดีจากเจ้าพนักงานบังคับคดีสหกรณ์จะดำเนินการอย่างไร สหกรณ์ควรดำเนินการ ดังนี้ 1. ตรวจดูว่าเป็นหมายบังคับคดีเรื่องอะไร เกี่ยวกับอะไร บังคับสหกรณ์หรือสมาชิกอย่างไร 2. หากเป็นหมายบังคับคดีเอาแก่สมาชิก สหกรณ์ต้องตรวจดูว่าสมาชิกมีภาระหนี้สินต่อสหกรณ์หรือไม่ เท่าไร 3. เชิญสมาชิกให้มาชี้แจงว่าหมายบังคับคดีนั้นมาจากมูลหนี้ใดเป็นเงินจำนวนเท่าใด เพื่อว่าสหกรณ์อาจช่วยเหลือสมาชิกให้ไป ถอนการบังคับคดีได้ 4. สหกรณ์จะโต้แย้งแทนสมาชิกหรือไม่ โดยคณะกรรมการดำเนินการมีมติไว้เป็นหลักการ หากสหกรณ์ประสงค์จะโต้แย้งหมาย บังคับคดี หรือหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องทำความตกลงกับสมาชิกว่า เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน หรือเงินค่าหุ้น ที่สมาชิกมีสิทธิ ได้รับจะยังคงเก็บไว้ที่สหกรณ์จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี หรือหนังสือแจ้ง อายัดหรือมีคำสั่งยกคำร้อง และค่าใช้จ่ายในการโต้แย้ง ใครจะเป็นผู้รับภาระ 5. ประเด็นที่จะโต้แย้งหมายบังคับคดี 5.1 การอายัดเงินปันผล และ/หรือเงินเฉลี่ยคืน เป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากสมาชิกซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น อาจมีสิทธิ หรือไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล และ/หรือเงินเฉลี่ยคืนจนกว่าจะได้มีการประชุมใหญ่ประจำปี ของสหกรณ์ และมีการจัดสรรกำไรสุทธิตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 60 เสียก่อน ขณะได้รับหมายบังคับคดีหรือคำสั่งอายัดนี้ยังไม่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี และยังไม่มีการจัดสรรกำไรสุทธิ สมาชิกซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้อง ในเงินปันผล และ/หรือเงินเฉลี่ยคืน สหกรณ์จึงไม่อาจรับอายัดตามหมายบังคับคดีหรือหนังสือแจ้งอายัดให้ได้ 5.2 การอายัดเงินค่าหุ้นเมื่อสมาชิกซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายังไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สหกรณ์ไม่อาจส่งเงินค่าหุ้นให้ได้เนื่องจากเป็นการขัดพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น” 5.3 การอายัดเงินค่าหุ้น โดยระบุว่าเมื่อสมาชิกซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้ว ให้สหกรณ์ส่งเงินค่าหุ้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องตรวจสอบว่าสมาชิกเป็นหนี้สหกรณ์อยู่ก่อนได้รับหมายบังคับคดี หรือหนังสือแจ้งอายัด หรือไม่ หากเป็นหนี้สหกรณ์อยู่ก่อน สหกรณ์สามารถโต้แย้งว่าสหกรณ์ประสงค์ใช้สิทธิ หักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 347 หรือ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 102 สหกรณ์จึงไม่ต้องส่งเงินค่าหุ้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
5.4 การที่หมายบังคับคดีมิได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึด อายัด ทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ และ มาตรา 311 คือ ให้ ยึด อายึด โดยคำสั่งของศาล การที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดไปยังสหกรณ์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้จัดส่งเงินดังกล่าว โดยที่ศาลมิได้กำหนดให้มีอำนาจพิเศษเช่นนั้นไว้ในหมายบังคับคดี จึงเป็นคำสั่งอายัดที่ไม่มีผลตามกฎหมาย 6. สหกรณ์ส่งหนังสือโต้แย้งหมายบังคับคดีหรือหนังสือแจ้งอายัดภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้โดยอาศัยเหตุผลตาม ข้อ 5 7. หากเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงแจ้งยืนยันการอายัด สหกรณ์ต้องรีบยื่นคำร้องต่อศาลที่ได้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้น หรือศาลที่ออกหมายบังคับคดี ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 ทั้งนี้ต้องยื่นคำแถลงต่อศาลขอนำหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าหนี้ ไปพร้อมกับคำร้องนั้น ค่าใช้จ่ายในการนำหมาย ตามอัตราที่ศาลกำหนด คำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือหนังสือแจ้งอายัดให้ทำเป็น 4 ชุด ยื่นต้นฉบับต่อศาล 1 ชุด พร้อมสำเนา 2 ชุด สำหรับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าหนี้ โดยเก็บสำเนาไว้ที่สหกรณ์อีก 1 ชุด หากไม่นำหมายก็จะเป็นการทิ้งคำร้อง ศาลจะสั่งจำหน่ายคำร้องออกจากสารบบ 8. บัญชีพยาน ประกอบด้วย กรรมการดำเนินการ หรือผู้จัดการ ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการดำเนินการ สมาชิกผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกแจ้งอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน หรือเงินค่าหุ้น เจ้าหน้าที่สินเชื่อ ข้อบังคับของสหกรณ์ สัญญากู้ยืม หลักฐานที่สมาชิกเป็น หนี้สหกรณ์ หนังสือแจ้งการอายัด และหนังสือโต้แย้งการอายัด กรณีเป็นพยานเอกสารให้ทำสำเนาให้ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าหนี้ ยื่นพร้อมคำร้อง 9. เมื่อยื่นคำร้องแล้วต้องติดตามคำสั่งศาลกำหนดวันและเวลาไต่สวนคำร้อง 10. ในวันไต่สวนคำร้องให้นำเอกสารต้นฉบับมาแสดงต่อศาล และนำพยานบุคคลมาสืบ สรุป
การโต้แย้งหมายบังคับคดี หรือหนังสือแจ้งอายัดมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น สหกรณ์ต่างๆ จึงมักไม่โต้แย้ง อย่างไรก็ตามกรณีอายัดเงินค่าหุ้น เงินปันผล และ เงินเฉลี่ยคืน หากสมาชิกมีหนี้อยู่กับสหกรณ์ และไม่มีผู้ค้ำประกัน สหกรณ์สมควรโต้แย้ง สิทธิเพื่อให้ศาลวินิจฉัยจะได้นำเงินค่าหุ้น เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน มาหักกลบลบหนี้ และเป็นบรรทัดฐานสืบไป แต่กรณีที่สหกรณ์ได้รับหมายบังคับคดี หรือหนังสือแจ้งอายัดแล้วนิ่งเฉย ไม่โต้แย้งและไม่ปฏิบัติตาม สหกรณ์ก็จะต้องถูกบังคับคดีเสียเองเสมือนเป็นลูกหนี้ตาม คำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง
คำแนะนำและวิธีปฏิบัติเมื่อสหกรณ์ได้รับหมายบังคับคดี [download]
|